web stats

วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551

รูรับแสง และ ความเร็วชัตเตอร์



รูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ถือเป็นหัวใจของการถ่ายภาพ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่นักถ่ายภาพทุกคนไม่ว่า
จะเป็นมือสมัครเล่นหรือมืออาชีพต้องรู้ไว้ จึงจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานการถ่ายภาพที่ดีได้

รูรับแสง (Aperture) บางทีก็เรียกกันว่า"หน้ากล้อง" การทำงานก็เหมือนกับชื่อ
นั่นก็คือเป็นช่องที่ปล่อยให้แสงผ่านเข้าไป ซึ่งรูรับแสงจะไปสัมพันธ์กับ
ความเร็วชัตเตอร์(ซึงคือเวลาที่ปล่อยให้แสงผ่านเข้าไปผ่านรูนั้น)
ทำให้เกิดความสว่างและรายละเอียดของภาพต่างๆกัน โดยขนาดของรูรับแสงจะวัดเป็น F number
ซึ่ง F number นี้ยิ่งมีค่าน้อย รูรับแสงจะยิ่งกว้าง(อาจจะขัดกับความรู้สึกนิดๆ)
และค่าของ F-number
นั้นจะเพิ่มขึ้น(หรือลดลง)เป็น stop เช่น F2.0, 2.8 , 4.0 , 5.6 , 8 ,11,16 , 22 เป็นต้น
โดยแต่ละ stop จะกว้างขึ้น(หรือแคบลง) 1 เท่า เช่น F2.8 จะกว้างกว่า F4 อยู่ 1 เท่า

จากภาพ - ยิ่ง F เลขมาก มีขนาดรูรับแสงที่เล็กลง



เนื่องจากรูรับแสงสัมพันธ์กับความเร็วชัตเตอร์ ซึ่งรูรับแสงที่กว้างจะช่วยให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆได้
ทำให้ถ่ายภาพในลักษณะที่มีการเคลื่อนไหว (เช่น ถ่ายภาพกีฬา) ได้ดีขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้นรูรับแสงที่กว้างยังจะช่วยให้เกิดลักษณะภาพชัดตื้น(หน้าชัด หลังเบลอ) ได้อีกด้วย






จากภาพ - การใช้รูรับแสงกว้างๆ (F เลขน้อยๆ) จะช่วยให้เกิดภาพที่มีลักษณะ"ชัดตื้น" ขึ้นได้
ภาพซ้าย F2.8 ความเร็วชัตเตอร์ 1/30 วินาที
ภาพขวา F8 ความเร็วชัตเตอร์ 1/4 วินาที

ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed)

ความเร็วชัตเตอร์คือเวลาที่ปล่อยให้แสงผ่านเข้าไปยังฉากรับภาพ(ในกล้องดิจิตอลคือ CCD)
โดยมีหน่วยเป็นวินาที เช่น 1/1000 วินาที 1/30 วินาที 1 วินาที 8 วินาที เป็นต้น
( 1/1000 วินาทีเร็วกว่า 1 วินาทีนะจ๊ะ ) โดยยิ่งความเร็วชัตเตอร์ยิ่งสูงยิ่งสามารถจับภาพได้อย่างรวดเร็ว
ทำให้ภาพไม่เบลอ แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้ในเรื่องของรูรับแสงแล้วว่า ความเร็วชัตเตอร์ทำงานสัมพันธ์กับรูรับแสง
หากความเร็วชัตเตอร์ยิ่งเร็ว ยิ่งทำให้ต้องมีรูรับแสงที่กว้าง จึงจะทำให้เกิดภาพที่ไม่มืด

จากภาพ - ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ จะช่วยหยุดการเคลื่อนไหวได้
F2.8 ความเร็วชัตเตอร์ 1/500 วินาที

แต่ไม่ใช่ว่าความเร็วชัตเตอร์ยิ่งเร็วถึงจะดี เพราะความเร็วชัตเตอร์ยังสัมพันธ์กับลักษณะของภาพที่ได้ด้วย
เช่น เมื่อเราไปถ่ายน้ำตก ความเร็วชัตเตอร์ที่เร็ว จะช่วยให้มองเห็นรายละเอียดของเม็ดน้ำ
แต่ความเร็วชัตเตอร์ที่นานขึ้นจะช่วยให้เห็นน้ำเป็นสาย

ภาพซ้าย - ความเร็วชัตเตอร์ชัตเตอร์สูงๆ (ค่าน้อยๆ)
จะช่วยให้หยุดการเคลื่อนไหวของน้ำได้
ภาพขวา - ความเร็วชัตเตอร์ที่นานขึ้น
จะช่วยให้เห็นน้ำเป็นสาย

หรือการถ่ายภาพไฟในตอนกลางคืน หากเราตั้งความเร็วชัตเตอร์นานๆ(อย่าลืมใช้ขาตั้งกล้อง)
ก็จะช่วยให้เห็นไฟเป็นสาย ให้ความสวยงามไปอีกแบบ

รูรับแสง (F) 22 ความเร็วชัตเตอร์ 10 วินาที สังเกตุไฟของรถยนต์ที่เป็นสาย ความเร็วชัตเตอร์ช้าๆ ช่วยให้เก็บรายละเอียดของแสงไฟได้ดี รูรับแสง (F) 22 ความเร็วชัตเตอร์ 8 วินาที

ความสัมพันธ์ระหว่าง รูรับแสง กับ ความเร็วชัตเตอร์
เมื่อเรารู้จักกับค่าทั้ง 2 ตัวแล้ว เราจะพบว่าทั้งรูรับแสงกับความเร็วชัตเตอร์
มีความสัมพันธ์กันในเรื่องของการเปิดรับแสง และความสว่าง/มืดของภาพ
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยากแต่อย่างใด สมมติว่าแสงมีค่าๆหนึ่งที่พอดี
ไม่ทำให้ภาพมืดหรือสว่างจนเกินไป เมื่อรูรับแสงกว้าง(F ตัวเลขน้อยๆ)
แสงก็จะเข้าได้มาก ชัตเตอร์ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดรับแสงนาน จึงใช้ความเร็วสูงๆได้
แต่หากเปิดรูรับแสงแคบๆ(F ตัวเลขมากๆ)ก็จำเป็นต้องมีความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลง(เปิดนานขึ้น)
เพื่อให้ได้แสงที่มีปริมาณพอเพียง

ถ้าหากว่าบางคนกำลังสงสัยอยู่ในใจว่า
แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าแสงจะพอดี ไม่สว่างหรือมืดเกินไป
หรือจะรู้ได้ยังไงว่าปรับรูรับแสงขนาดเท่านี้แล้วต้องปรับความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่แล้วละก็ ไม่ต้องกังวลครับ
หากอยู่ในหมวดกึ่งอัตโนมัติ เช่น P หรือหมวดปรับรูรับแสงหรือความเร็วชัตเตอร์เองแล้วละก็
กล้องจะทำการเลือกค่าที่เหลือที่เหมาะสมให้อัตโนมัติ แต่หากว่าอยู่ในโหมด Manual
กล้องก็จะมีมาตรวัดความสว่างให้ครับ ว่าค่าที่ตั้งทำให้รูปมืดหรือสว่างเกินไปหรือเปล่า